วันที่ 5 ตุลาคม 2567 ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อ.ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเพจ มิตรเอิร์ธ ระบุว่า เขื่อนเจ้าพระยา ขอระบายน้ำเพิ่ม จึงขอแจ้ง พื้นที่อ่อนไหว ดังนี้
คลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
แม่น้ำน้อยบริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
อ.พรหมบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง
ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง
วันเดียวทาง ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ได้แจ้งว่า น้ำเหนือจ่อไหลมาสมทบเพิ่มอีก หลังเจอฝนตกหนัก เขื่อนเจ้าพระยาเตรียมทยอยปรับเพิ่มการระบาย ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้
ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกและมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้นั้น
ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที คาดการณ์สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ในช่วง 1-7 วันข้างหน้า ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,200-2,500 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองชลประทาน
ทั้งนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบให้กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 2,500 ลบ.ม./วินาที แต่เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้าย กรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที ให้สามารถรองรับมวลน้ำเหนือ น้ำฝน ที่จะไหลลงมาสมทบในระยะนี้ได้
ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60-70 เซนติเมตร อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน บริเวณ
คลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยบริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา
ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
อ.พรหมบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง
ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังจังหวัดในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เฝ้าระวังระดับน้ำและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น