สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายรายหนึ่งได้ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นพนักงานธนาคารกสิกรไทย (สาย1) โทรมาหลอกว่าผู้เสียหายเป็นหนี้บัตรเครดิต หากไม่ได้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวอาจมีบุคคลแอบอ้างต้องแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองตาก เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ มิจฉาชีพจึงโอนสายต่อไปให้คนที่สองซึ่งปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองตาก (สาย2 : สวมบทข่มขู่) จากนั้นจึงให้ผู้เสียหายแอด LINE แล้วข่มขู่ว่ามีพยานหลักฐานที่แสดงว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีฟอกเงินต้องโดนดำเนินคดี ผู้เสียหายเกิดความกลัว มิจฉาชีพจึงให้ผู้เสียหายแสดงความบริสุทธิ์โดยการโอนเงินให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
จากนั้นจึงมีการโอนสายต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมที่อ้างตัวเป็นผู้กอง (สาย 3 : สวมบทปลอบโยน) โดยให้คำแนะนำและโน้มน้าวให้ผู้เสียหายโอนเงินไปตรวจสอบ เมื่อเสร็จแล้วและจะโอนคืนให้ในวันถัดไป จึงแจ้งข้อมูลบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายโอนเงิน ผู้เสียหายได้โอนไปหลายครั้ง รวมทั้งสิ้น 2,370,000 บาท และยังแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเพิ่มอีก จนผู้เสียหายรู้ตัวว่าโดนหลอก จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลาต่อมา
จากนั้นจึงได้สืบสวนหาข้อมูลจนพบพยานหลักฐานต่างๆ ที่สอดคล้องว่าผู้เสียหายรายนี้โดนหลอกโดยแก็งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองโอเสม็ด จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา จึงได้ประสานไปตำรวจประเทศกัมพูชา จึงทราบว่ามีคนไทยถูกหลอกไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และได้หาทางติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในกัมพูชา ต่อมาสามารถช่วยเหลือออกมาได้จำนวน 4 คน
ต่อมา พนักงานสอบสวน บก.สอท.2 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนทราบข้อมูลบุคคลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองโอเสม็ดดังกล่าว จนสามารถขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 15 คน สามารติดตามจับกุมมาได้ได้ ทั้งสิ้น 12 คน คือ 1.นายปฏิภาณ หรือ อาฉิ่ง อายุ 21 ปี (หัวหน้าแก๊ง และ โอเปอเรเตอร์ สาย 3) 2.นายภาณุ หรือตี๋ อายุ 23 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2) 3.นายพงศกร หรือ เบล อายุ 29 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1) 4.นายกฤษณะ หรือ เบส อายุ 21 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1) 5.นายอภิรัฐ อายุ 23 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2) 6.น.ส.ฤทัยรัตน์ อายุ 29 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1)
7.น.ส.ธวัลกร หรือ น.ส.กุสุมา หรือโฟม อายุ 28 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2) 8.นายธวัชชัย หรือ ตังค์ อายุ 24 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2) 9.นายพงศธร หรือ ปราย อายุ 24 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1 และ 2) 10. น.ส.พัชสร หรืออุ้ม อายุ 23 ปี (โอเปอเรเตอร์ สาย 1) 11.นายอดิศักดิ์ อายุ 35 ปี (คนพาข้ามแดนโดยช่องทางธรรมชาติ) 12.น.ส.ใบเฟิรส์ อายุ 21 ปี อายัดตัวที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ (เจ้าของบัญชีม้า) ส่วนผู้ต้องหาอีก 3 ราย พบว่าได้หลบหนีออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติไปแล้ว
ตำรวจพบหลักฐานสำคัญของ นายปฏิภาณ หรือ อาฉิ่ง คือ พบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานของแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์เก็บไว้ในแฟลชไดรฟ์จำนวนมาก เช่น ข้อมูลเหยื่อกว่า 12,000 ราย ข้อมูลบทพูดหลอกลวงผู้เสียหาย ของสาย 1 และ สาย 2 ข้อมูลการแก้ปัญหากรณีเหยื่อสอบถามกลับ ข้อมูลคลิปวีดีโอของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ทำการตัดต่อเสียงแล้ว ข้อมูลบัตรข้าราชการตำรวจปลอม ข้อมูลวิธีการจัดทำซิม และบัญชีม้า และข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบภาษาจีนอีกเป็นจำนวนมาก
จากการสอบสวนผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ทุกคนให้การยืนยันว่า นายปฏิภาณ หรือ อาฉิ่ง คือผู้ควบคุมสั่งการทั้งหมด โดยพักอาศัยในอาคารมีรั้วสูงรอบขอบชิด มี รปภ. เฝ้าตลอดเวลา ไม่สามารถออกไปไหนได้ หากใครทำยอดไม่ได้ ทำผิดกฎข้อห้าม หรือ พยายามหลบหนี อาฉิ่งจะบังคับให้ยืนตากแดด 2-3 ชั่วโมง หรือทำร้ายร่างกายโดยการทุบตี และ ชอร์ตด้วยเครื่องชอร์ตไฟฟ้า โดยบังคับให้ทำงานตั้งแต่ 08.00 – 18.00 น. ไม่มีวันหยุด มีอาหารให้ 4 มื้อ (เช้า กลางวัน เย็น และค่ำ) แต่ในเวลางานอนุญาตให้ดื่มแค่น้ำเปล่า ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ และห้ามคุยกันข้ามสาย อีกทั้ง อาฉิ่งยังเป็นผู้เรียบเรียงบทพูดในการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยนายอาฉิ่งพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีน
ผู้ต้องหายังให้การว่า ทำงานอยู่แก๊งคอลเซ็นเตอร์รายนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2565 ถึงกลางปี 2566 ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณอายุ โดยในการทำงานนั้น หัวหน้าแก๊งจะสั่งให้คัดลอกและท่องบทพูดจนคล่องและนั่งประกบรุ่นพี่จนสามารถทำงานได้ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องหลอกเหยื่อให้โอนเงินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 20 ล้านบาท (หรือ ประมาณเดือนละ 80 ล้านบาท) ทำให้มีแก๊งดังกล่าวมีรายได้หมุนเวียนนับพันล้านต่อปี
หากทีมใดทำยอดถึงเป้าจะได้หยุด 1 วัน หากทีมไหนยอดไม่ถึงเป้า ก็จะไม่มีวันหยุดพัก โดยช่วงเวลา 18.00 น. ของทุกวันจะประกาศผลการทำยอดของแต่ละคน ซึ่งหากใครทำยอดได้เยอะจะได้รับเสียงปรบมือจากทุกคนและได้รับรางวัลพิเศษในที่ประชุม และในส่วนเงินตอบแทนจะได้รับตามเปอร์เซ็นต์ของยอดเงินที่หลอกได้ คือ สาย 1 ได้ 6 เปอร์เซ็นต์ สาย 2 ได้ 5 เปอร์เซ็น และ สาย 3 ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ หากคนเดียวทำได้ทั้งสาย 1 และสาย 2 ก็จะได้รับรวมกันถึง 11 เปอร์เซ็นต์
คดีที่ 2 จับกุมเว็บพนันรายใหญ่ “หวานเจี๊ยบ777” เงินหมุนเวียนนับพันล้านต่อเดือน ยึดเงินสดเกือบ 24 ล้านบาท และทรัพย์สินกว่า 30 ล้าน
โดยตำรวจได้สืบสวนและประสานข้อมูลกับศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 จนพบการกระทำผิดในการจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ whanjeab777a.com เบื้องต้นพบว่ามียอดสมาชิกผู้เล่นประมาณ 40,000 คน มีเงินหมุนเวียนประมาณหนึ่งพันล้านบาทต่อเดือน จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหา 9 คน จนกระทั่งวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ระดมกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 5 จุด และจับกุมผู้ต้องหาสำคัญได้ 3 ราย คือ 1.นายชินดนัย ผู้ทำหน้าที่บริหารด้านการเงิน ได้ที่คอนโดมิเนีตมหรูย่านรัชดา 2.นายสุทธิชัย ผู้ทำหน้าที่บริหารด้านการเงิน ที่คอนโดมิเนียมหรูย่านรัชดา และนางสาวนงลักษณ์ อายุ 49 ปี ผู้หน้าที่กดเงิน ที่บ้านพักในอำเภอท่าเคือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องได้หลายรายการ เช่น เงินสดเกือบ 24 ล้านบาท, รถยนต์ 2 คัน, คอมพิวเตอร์ 1 ชุด, สมุดบัญชีธนาคาร 2,341 เล่ม, บัตรกดเงินอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1,779 ใบ, แท็ปเล็ต จำนวน 1 เครื่อง แบะโทรศัพท์มือถือ จำนวน 46 เครื่อง รวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
และคดีที่ 3 จับกุมเจ้าพ่อหวยลาวรายใหญ่ เพจเฟสบุ๊คชื่อ “บ้านเพชรมณีนาคา” มีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านต่อปี
โดยตำรวจนำหมายค้นศาลแขวงชลบุรี เข้าค้นที่บ้านเลขที 554/87 หมู่บ้านเดอเทอเรส หมู่ 3 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จับกุม นายวินัย ชาวหนองบัว อายุ 30 ปี พร้อมของกลาง โทรศัพท์มือถือ, บัตรเบอร์หวย บัตรเบอร์เงิน 17,554 ใบ, สมุดจดหวย 140 เล่ม กล่องใช้สำหรับบรรจุบัตรเบอร์หวย เบอร์เงิน ส่งให้แก่ลูกค้า 11 กล่อง เครื่องคิดเลข 1 อัน สมุดบันทึกรายรับรายจ่าย 1 เล่ม รถยนต์ 2 คัน สร้อยทองคำ, พระเครื่องเลี่ยมทอง, สมุดบัญชีธนาคาร และอุปกรณ์สำหรับส่งขายต่อให้แก่ลูกข่ายหรือแม่ทีมเพื่อนำไปขายต่อให้แก่บุคคลทั่วไปที่เล่นการพนัน
ตรวจสอบทราบว่า นายวินัยเป็นเจ้าของเฟสบุ๊คดังกล่าว เป็นเจ้ามือหวยลาวมาประมาณ 1 ปีเศษ มีรายได้ประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน มีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน