จากกระแสละคร บางกอกคณิกา ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงค้าประเวณี หรือ นางคณิกา ออกมาในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน การต่อสู้เพื่อความฝันของหญิงคณิกา 3 คน ที่ต้องการปลดแอกจากการเป็นโสเภณี ทำให้เรื่องราวของหญิงขายบริการกลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง หลังประเด็นนี้เคยเป็นกระแสจากละคร กรงกรรม (2562) และภาพยนตร์อินเดียเรื่อง คังคุไบ (2565) และ นางฟ้าไร้นาม (2566)
โฉกกฬี เมื่อคนไทยพูดก็เพี้ยนเป็น ช็อกกะรี และกร่อนมาเป็นกะหรี่ในที่สุด ซึ่งแม้ โฉกกฬี จะไม่ได้หมายถึงหญิงผู้ขายบริการทางเพศ แต่ก็เป็นคำแสลงของอินเดียที่หมายถึงหญิงผู้ขายบริการทางเพศมาก่อนที่จะแพร่หลายในไทยแล้ว
สำเพ็ง เคยเป็นคำด่าที่หมายถึง โสเภณี ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีเรือสำเภาจอดที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแถบสำเพ็งและราชวงศ์ประมาณ 70 ลำ เรียงซ้อนกันเป็นสองแถว คาดว่าสินค้าเหล่านี้คงจะมีเครื่องกระเบื้อง แพรพรรณ ผลไม้แห้ง ผลไม้ดอง เครื่องประดับ เครื่องประทินโฉมและสมุนไพร เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการตัดถนน ชาวจีนก็ขึ้นไปตั้งบ้านเรือนค้าขายบนบกบริเวณที่เป็นสำเพ็งในปัจจุบัน โดยปลูกบ้านติดๆกัน สำเพ็งได้ขยายออกไปอย่างเจริญรุ่งเรือง และยังคงเป็นตลาดขายส่งที่ยังได้รับความนิยมจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ชื่อสำเพ็งยังถูกใช้เป็นคำด่า ที่ใช้กันว่า “อีสำเพ็ง” ซึ่งหมายถึงโสเภณี เหตุเพราะแถวนั้นในอดีตนอกจากเป็นแหล่งการค้าแล้ว ยังขึ้นชื่อในทางมีซ่องโสเภณีหลายแห่ง อาทิ โรงยายแฟง โรงแม่กลีบ โรงแม่เต๊า และอื่นๆ “อีสำเพ็ง” จึงเป็นคำด่าหญิงโสเภณีหรือหญิงที่ประพฤติตัวไม่ดีนั่นเอง
โสเภณี แปลว่า หญิงงาม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า โสเภณี หรือ โสภิณี มีความหมายว่า หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี, หญิงโสเภณี นครโสเภณี หญิงนครโสเภณี หญิงงามเมือง หรือ นางกลางเมือง ก็ว่า (ป. โสภิณี ว่า หญิงงาม; ส. โศภินี)
นอกจากนี้บทวิทยุรายการ รู้ รัก ภาษาไทย ยังมีการพูดถึงคำว่า โสเภณี ว่า เป็นคำกร่อนมาจากคำว่า “นครโสภิณี” นคร แปลว่า เมือง , โสภิณี แปลว่า หญิงงาม นครโสภิณี จึงแปลว่า หญิงงามประจำเมือง หญิงผู้ทำเมืองให้งาม
โสเภณีมีมาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล ในประวัติศาสตร์ไทย หญิงนครโสเภณี มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏใน พระอัยการลักษณะผัวเมีย อยู่ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราขึ้นใน พ.ศ.๑๙๐๔ สมัยพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวถึงหญิงนครโสเภณี ซึ่งแสดงว่ามีการค้าประเวณีเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งพระเจ้าอังวะได้ให้พระเจ้าอุทุมพรและข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยที่ถูกจับเป็นเชลยไปเมื่อคราวเสียกรุงใน พ.ศ.๒๓๑๐ ได้ลำดับเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา จดบันทึกไว้ว่า
“…มีตลาดบนบกนอกกำแพงพระนครตามชานพระนครบ้าง ตามฝั่งฟากกรุงบ้าง ติดแต่ในรอบบริเวณขนอนใหญ่ทั้ง ๔ ทิศ รอบกรุงเข้ามาจนฟากฝั่งแม่น้ำตามกรุง แลชานกำแพงกรุงนั้นด้วย รวมเป็น ๓๐ ตลาดคือ…ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชย มีหญิงนครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด ๔ โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือแลทางบก มีตึกกว้างร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด ๑”
หญิงโคมเขียว เทพชู ทับทอง ได้เคยเขียนความเป็นมาของโสเภณีในอดีต ไว้ในหนังสือ “หญิงโคมเขียว” ว่า อาชีพเก่าแก่นี้มีเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ มีแหล่งประจำอยู่ที่ย่านสำเพ็ง มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5-6 โสเภณีมีชื่อใหม่ว่า “หญิงโคมเขียว” เพราะสำนักโสเภณีเหล่านี้มักจะแขวนโคมกระจกสีเขียวไว้เป็นเครื่องหมาย พอค่ำก็เปิดไฟหรือจุดตะเกียงในโคมให้ลูกค้ารู้กัน แหล่งที่ขึ้นชื่อมากเรียกว่า “ตรอกเต๊า” มีสำนักตั้งกันเรียงรายตลอดตรอก
สำนักโคมเขียวที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น คือ สำนักยี่สุ่นเหลือง เป็นซ่องมีระดับเป็นตึกใหญ่มีรั้วรอบขอบชิด อยู่ลึกเข้าไปจากถนนเจริญกรุงตรงข้ามกับตรอกเต๊า แขกที่มาเที่ยวส่วนใหญ่ค่อนข้างมีระดับ มีแม่เล้าเป็นหญิงวัยกลางคนคอยเป็นคนดูแลต้อนรับแขก ซ่องแห่งนี้จะสะอาด เงียบสงบ หญิงบริการก็จะได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดี เพราะจะเลือกรับแต่แขกชั้นสูง มีทั้งเศรษฐีและขุนนางหนุ่มๆ มาใช้บริการ ต่างจากซ่องอื่นๆ ในย่านตรอกเต๊า
โสเภณี เคยถูกกฎหมาย โสเภณีเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาในสังคมไทยนับตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์จัดให้มีการเก็บภาษีบำรุงถนนอันเป็นภาษีโสเภณีในสมัยนั้น ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้มีการตราพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127 พระราชบัญญัติฉบับนี้อนุญาตให้มีการค้าประเวณีได้ แต่โสเภณีทุกคนและสำนักทุกแห่งต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย
กฎหมายฉบับดังกล่าวใช้มาจนกระทั่งสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในสมัยนี้ ได้ออกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีขึ้นใช้แทนในปี พ.ศ. 2503 นับตั้งแต่นั้นมาโสเภณีจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมายในสังคมไทย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 กิจการนี้เฟื่องฟูมากจนมีการจัดเก็บภาษี ในพิกัดท้องตราอาการเรือนโรงร้านหมายเลขที่ 5 กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“กำหนดที่จะเก็บอาการเรือน โรง ร้าน ตึก แพนั้น ถ้าเป็นเรือน โรง ร้าน ตึก แพในกรุงเทพฯ ที่ให้เช่าไว้สินค้าแลตั้งบ่อนเล่นเบี้ย เขียนหวย หรือคนเช่าอยู่ก็ดี หรือไม่ได้เช่าเป็นแต่เอาไว้สินค้าของตัวเองก็ดี และเรือนโรง ร้าน ตึก แพ หญิงหาเงินเหล่านี้ อยู่ในท้องที่โปลิศลาดตระเวน ก็ให้เทียบเก็บอากรเหมือนค่าเช่าคือ 12 ชักหนึ่งกึ่ง ถ้าไม่ได้อยู่ในท้องที่โปลิศลาดตระเวน ก็ให้นายอากรเก็บอากรเพียง 12 ชัก 1 เท่านั้น ถ้าอยู่แถวท้องตลาดปะปนอยู่ในระหว่างโรง ร้าน ตึก แพที่มีสินค้าขาย ต้องเรียกอากรเท่ากับโรง ร้าน ตึก แพมีสินค้าเหล่านั้นเหมือนกัน”
ส่วนตัวหญิงขายบริการเองก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน โดยพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 กำหนดว่า หญิงนครโสเภณีต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ ค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตราคา 12 บาท มีอายุ 3 เดือน เงินจำนวนดังกล่าวนับว่าสูงมากในสมัยนั้น