December 12, 2024

กทม.ยกเลิก แผงลอย หน้าตึกไทยประกันรัชดา เริ่ม ต.ค.นี้

กทม.ยกเลิก แผงลอย หน้าตึกไทยประกันรัชดา เริ่ม ต.ค.นี้

กทม.ยกเลิก แผงลอย หน้าตึกไทยประกันรัชดา เริ่ม ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายที่ผ่านมา นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย ผู้ว่าฯ กทม.ในพื้นที่เขตดินแดง

นายจักกพันธุ์ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้า บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่หน้าตึก RS Tower ถึงหน้าห้าง Big C รัชดาภิเษก รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 102 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-10.00 น. ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. ผู้ค้า 48 ราย ผู้ค้าส่วนใหญ่จะขายสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ซึ่งจุดดังกล่าวได้รับการร้องเรียนถึงความไม่เป็นระเบียบ ความสกปรกบนพื้นที่ทางเท้า อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด

สำนักงานเขตดินแดง ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าจะดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าว โดยเชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ รวมถึงจัดหาสถานที่ใกล้เคียงเพื่อรองรับผู้ค้าในจุดดังกล่าว พร้อมทั้งให้เวลาผู้ค้าในการเตรียมตัวประมาณ 2-3 เดือน ผู้ค้าที่ทำการค้าในกลางคืนเวลา 16.00-21.00 น. จำนวน 48 ราย กำหนดยกเลิกเดือนตุลาคม 67 ส่วนผู้ค้าที่ทำการค้าในกลางวันเวลา 07.00-10.00 น. จำนวน 54 ราย กำหนดยกเลิกเดือนธันวาคม 67 ในเบื้องต้นได้ประสานตลาดนัดจ๊อดแฟร์ รัชดา ซึ่งเป็นจุดที่เขตฯ จะทำเป็น Hawker Center รองรับผู้ค้าได้ 200 ราย

ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 292 ราย ดังนี้ 1.หน้าบริษัทไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก รวมผู้ค้า 102 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-10.00 น. ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. ผู้ค้า 48 ราย 2.หน้าธนาคารกรุงไทย ถนนประชาสงเคราะห์ รวมผู้ค้า 48 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-11.00 น. ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 27 ราย 3.หน้าตลาดกลางดินแดง ถนนประชาสงเคราะห์ รวมผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. 4.หน้าตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ รวมผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-15.00 น. ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 21.00-04.00 น. ผู้ค้า 97 ราย 5.โค้งพร้อมพรรณ ถนนประชาสงเคราะห์ รวมผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-23.00 น. และ 6.โค้งหอนาฬิกา ถนนประชาสงเคราะห์ รวมผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ผู้ค้า 17 ราย (ยกเลิกเดือนเมษายน 67) 2.บริเวณหน้า TVC แมนชั่น ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 4 ราย (ยกเลิกเดือนพฤษภาคม 67)

นอกจากนี้ เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ในจุดที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.ตลาดสดห้วยขวาง ชั้น 2 พื้นที่ 512 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 2.หน้าห้างเอสพลานาด พื้นที่ 54 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย 3.หน้าโครงการพร้อมรัชดา พื้นที่ 86 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 4.ด้านหลังมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พื้นที่ 16 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 10 ราย 5.หน้าห้าง The Street รัชดา พื้นที่ 90 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย และ 6.ตลาดนัดจ๊อดแฟร์ รัชดา รองรับผู้ค้าได้ 200 ราย

ต่อมานายจักกพันธุ์ลงพื้นที่พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมดับเพลิงสุทธิสาร บริเวณปากซอยวิภาวดีรังสิต 8 ถนนวิภาวดีรังสิต พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงกรุงเทพ กรมทางหลวง เขตฯ ได้ประสานใช้พื้นที่ โดยร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ดำเนินการพัฒนาเป็นสวน 15 นาที ในรูปแบบสวนหย่อมขนาดเล็ก (Pocket Park) โดยปรับปรุงทางเท้า จัดทำเสาค้ำยันต้นไม้ยืนต้น จัดทำป้ายชื่อสวน ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเพิ่มเติม ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับ ติดตั้งเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง และมุมนั่งพักผ่อนสำหรับประชาชน

ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมดับเพลิงสุทธิสาร พื้นที่ 3 งาน 2.สวนที่ว่างริมคลองห้วยขวาง พื้นที่ 95 ตารางวา สวน 15 นาที อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมริมคลองสามเสน พื้นที่ 200 ตารางเมตร 2.สวนการเคหะสร้างสุข พื้นที่ 100 ตารางเมตร 3.สวนภายในสำนักงานเขต พื้นที่ 100 ตารางเมตร

ทั้งนี้ นายจักกพันธุ์ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวนเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

ต่อมานายจักกพันธุ์ เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวิชากร วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ (ถังสีเขียว) คัดแยกขยะเศษอาหาร โดยตั้งวางถังรองรับเศษอาหารในโรงอาหาร และให้เกษตรกรรับไปเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมการนำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ประโยชน์ 2.ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) ส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ การนำขยะรีไซเคิลบางส่วนมาใช้ทำงานประดิษฐ์ในรายวิชาการงานอาชีพ 3.ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง โดยแยกทิ้งขยะทั่วไปไม่ปะปนกับขยะประเภทอื่น 4.ขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ส่งเสริมการคัดแยกขยะอันตราย และให้เขตฯ รับไปกำจัดอย่างถูกวิธี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *