เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2567 เว็บไซต์ต่างประเทศ soha ได้มีการนำเสนอเรื่องราวสุดแปลกระบุว่า เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว นักธุรกิจชายชาวสิงคโปร์วัย 52 ปีรายหนึ่ง ได้ซื้ออพาร์ทเมนต์ขนาดประมาณ 160 ตารางเมตร หลังการปรับปรุงตกแต่งภายในเสร็จสิ้น ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้ง 4 คน พ่อ แม่ ลูกสาวคนโตและลูกชายคนเล็ก ก็พากันย้ายเข้ามายังบ้านใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา
แต่ก็เกิดเรื่องตั้งแต่วันแรกที่ย้ายเข้ามาบ้านหลังใหม่ หลังลูกสาววัย 8 ขวบ รู้สึกไม่สบาย ตาแห้ง เจ็บคอ และอาการอื่น ๆ หลังจากนั้น ชายเจ้าของบ้านก็มีอาการคล้ายๆ กัน ในขณะที่ภรรยาเจ็บคอจนเสียงหายเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สุดท้าย ทั้งครอบครัวต้องไปตรวจร่างกายทำการรักษาที่โรงพยาบาล จึงพบว่าพวกเขาทั้งสี่คนได้รับ สารที่ชื่อว่า ฟอร์มาลดีไฮด์
เมื่อรู้ดังนั้น เจ้าของบ้านรีบแจ้งบริษัทตกแต่งภายในทันที ให้ส่งพนักงานเข้ามาที่บ้านเพื่อทดสอบสารฟอร์มาลดีไฮด์ และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายบนเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน จำนวนรวม 36 ชิ้น ผลการตรวจพบว่า มีเฟอร์นิเจอร์เข้าเกณฑ์มาตรฐานเพียง 5 ชิ้น ซ้ำร้ายในบรรดาเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด พบว่าตู้เก็บของในห้องลูกชายวัย 5 ขวบ มีความเข้มข้นของฟอร์มาลดีไฮด์สูงถึง 4.8 ซึ่งสูงกว่าขีดจำกัดบนของความเข้มข้นของฟอร์มาลดีไฮด์ถึง 60 เท่า
อย่างไรก็ตาม หลังจากพยายามเจรจากับบริษัทตกแต่งภายในหลายครั้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ ท้ายที่สุดเจ้าของบ้านจึงตัดสินใจรื้อเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดออก และเตรียมฟ้องบริษัทตกแต่งภายในที่ทำให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ จากผลวิจัย สำนักงานวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ฟอร์มาลดีไฮด์เป็นสารก่อมะเร็งประเภท 1 เป็นสารเคมีไม่มีสี ติดไฟได้ มีกลิ่นฉุน ใช้ในวัสดุก่อสร้างและการผลิตในครัวเรือนจำนวนมาก เช่น ใช้ในผลิตภัณฑ์ไม้อัด กาวและสารยึดติด การเคลือบผลิตภัณฑ์กระดาษ และวัสดุฉนวนบางชนิด นอกจากนี้ ฟอร์มาลดีไฮด์ยังถูกใช้เป็นยาฆ่าเชื้อรา เป็นสารกันบูดในโรงชำแหละสัตว์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ด้วย
ทางด้าน ดร.เหลียง ฉีเฉิง แพทย์ฉุกเฉินจากไต้หวัน กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า การสูดดมสารฟอร์มาลดีไฮด์ในปริมาณเล็กน้อย อาจทำให้ระคายเคืองต่อดวงตาและจมูก ส่งผลให้มีน้ำมูกไหลเป็นเวลานาน ทำให้เกิดพิษเรื้อรัง ซึ่งอันตรายที่สุดต่อ ตับ ปอด และไต ในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้เกิดมะเร็งได้
ในขณะที่ ดร.อู๋ เจี้ยนฉง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจชาวไต้หวัน กล่าวอีกว่า การตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่งผลิตเสร็จใหม่ จะปล่อยฟอร์มาลดีไฮด์ที่มีความเข้มข้นสูงสุด กลิ่นจากการตกแต่งภายในมีสารฟอร์มาลดีไฮด์เป็นหลัก การสูดดมเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบได้ การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นด้วยว่า อาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งโพรงจมูก และมะเร็งลำไส้ เป็นการยากที่จะป้องกันด้วยการใช้เพียงหน้ากากหรือตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง
วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการ ป้องกันสารฟอร์มาลดีไฮด์ ก็คือการรักษาการระบายอากาศของบ้าน เฟอร์นิเจอร์อาจต้องถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างนอกสักสองสามสัปดาห์ก่อนนำเข้าบ้าน ขณะเดียวกันก็อย่าซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่จำนวนมากในคราวเดียว พร้อมแนะนำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ รอประมาณ 1 – 2 เดือนก่อนจะย้ายเข้าบ้านที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ เพื่อลดการสัมผัสสารพิษนี้
ข้อมูล