September 8, 2024

‘พิธา’ แนะ 5 ข้อจี้รัฐบาลเร่งทำ ลั่นงบฯ ที่มีความสมดุล เป็นสิ่งสำคัญ ปชช.อาจต้องการแค่ลมใต้ปีก

‘พิธา’ แนะ 5 ข้อจี้รัฐบาลเร่งทำ ลั่นงบฯ ที่มีความสมดุล เป็นสิ่งสำคัญ ปชช.อาจต้องการแค่ลมใต้ปีก“พิธา” ลั่นงบประมาณที่มีความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกินดีอยู่ดีของพี่น้องประชาชน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในปี 68 ชี้ ปชช.อาจต้องการแค่ลมใต้ปีก ไม่ใช่พายุหมุนทาง ศก. แนะ 5 ข้อจี้ รบ.เร่งทำงบให้ชัด
จากนั้นเวลา 20.55 น.วันที่ 21 มิ.ย.67 ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสรุปว่า ปี 68 จะยังคงเป็นปีที่ยากและเสี่ยงสำหรับพี่น้องประชาชน ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและความเสี่ยงจากปัจจัยที่ถูกกดดันทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้น และถูกกดดันจากปัจจัยภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าที่แพงขึ้น หนี้ครัวเรือน ภัยพิบัติ โรคระบาด สังคมสูงวัย ยาเสพติดและมิติทางการเมือง

ขณะที่ปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นสงคราม การกีดกันเรื่องการค้า วิธีการคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ดังนั้นงบประมาณที่รอบคอบ งบประมาณที่มีการบริหารความเสี่ยง และงบประมาณที่มีความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกินดีอยู่ดีของพี่น้องประชาชน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในปี 68
นายพิธา อภิปรายว่า ขณะเดียวกันปีนี้เป็นปีที่หกของตนในการอภิปรายงบประมาณแผ่นดิน หกปีอาจจะไม่ใช่เวลาที่มากเมื่อเทียบกับเพื่อนสมาชิกหลายๆ ท่านที่อยู่มานาน แต่ก็นานพอที่จะทราบว่าการทำงบประมาณของประเทศไม่ว่าความท้าทายจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะมีโควิดหรือไม่ จะมีสงครามหรือไม่ จะมีเงินเฟ้อหรือไม่ รูปร่างของงบประมาณก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันมาก ใน 6 ปีที่ตนได้มีส่วนร่วมในการอภิปราย มีอยู่ปีหนึ่งตนหยุดปฏิบัติหน้าที่เลยไม่ได้อภิปรายงบประมาณปี 67

แต่ก็มีข้อดี มานั่งคิดว่ามันมีวิธีไหนหรือทำให้การอภิปรายครั้งต่อไปของตนและพรรคก้าวไกลไม่เหมือนเดิม แตกต่างจากสิ่งที่เคยทำมาในช่วงหกปีที่ผ่านมา โดยตนไปนั่งไล่ดูรัฐสภาประเทศอื่นย้อนหลังหลังจากที่โดนหยุดปฏิบัติหน้าที่

นายพิธา อภิปรายต่อว่า สิ่งที่ตนได้ตกผลึก งบประมาณคือการเรียงลำดับความสำคัญ ทรัพยากรมีจำกัดทุกประเทศ มันคือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่จ่ายภาษีกับรัฐที่ใช้ภาษี สิ่งที่สำคัญจากการศึกษางบประมาณของหลายประเทศ มีความประทับใจอดีตนายกฯ นิวซีแลนด์เมื่อปี 2019 ใช้คำว่าการจัดงบประมาณเพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี แม้จะกระตุ้นจีดีพีแต่ต้องลดความเหลื่อมล้ำด้วย เป็นการทำงบประมาณที่ไม่ใช่แค่คำนึงถึงระยะสั้น ไม่ได้คิดแค่โปรยเงินจากบนลงล่างหรือล่างขึ้นบน บางทีประชาชนอาจไม่ได้ต้องการพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะต้องการเพียงแค่ลมใต้ปีก ต้องการโครงการที่ใส่ใจเล็กๆ จากล่างขึ้นบน ก็ทำให้เศรษฐกิจโตได้ และลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วยเช่นกัน

นายพิธา อภิปรายว่า สำหรับกรอบการอภิปรายงบประมาณปี 68 ประกอบไปด้วยสามวาระคือการประมวล ขยาย และเสนอแนะ สำหรับการประมวล สิ่งที่ประชาชนควรเข้าใจเกี่ยวกับงบประมาณมี 3 องค์ประกอบ คือรายได้ของรัฐบวกกับเงินกู้เท่ากับรายจ่ายของรัฐ รายได้ของรัฐขณะนี้ 2.88 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่พอกับรายจ่าย จึงจำเป็นต้องกู้เพิ่มที่ 8.6 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐมีรายจ่ายอยู่ที่ 3.75 ล้านล้านบาท

สถานการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ของรัฐมีความผันผวน สัดส่วนการเก็บจัดเก็บรายได้ลดลง เมื่อเทียบกับจีดีพีย้อนหลังตั้งแต่ปี 54 จะเห็นว่ารายได้ขึ้นๆ ลงๆ ขณะเดียวกันรายได้ในการจัดเก็บหารด้วยจีดีพีมันน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงปี 66 เหลือเพียง 10 กว่า % ในขณะที่เป้าหมายของโออีซีดีเราควรจัดเก็บรายได้ 16 ถึง 18% ซึ่งแผนรายได้การจัดเก็บรายได้ของรัฐซึ่งผันผวนมาตลอดนั้น รัฐบาลมีแผนงานอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ารายได้ในอนาคต หรือรายได้ในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนหลังจากนี้ จะเป็นรายได้ที่สามารถนำมาใช้ในประเทศได้โดยไม่ต้องกู้มากขึ้น

นายพิธา อภิปรายอีกว่า จากข้อมูลล่าสุดการจัดเก็บรายได้ของรัฐมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ตามเป้า รัฐประมาณการว่าจะเก็บรายได้ 1.46 ล้านล้านบาท ขณะนี้จัดเก็บรายได้พลาดเป้าไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องจากมาตรการลดภาษีดีเซลและเบนซิน การจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าเป้าหมาย และมาตรการส่งเสริมการขายอีวี แสดงให้เห็นว่าเวลาที่รัฐบาลจะทำนโยบายอะไร ขณะเดียวกันมันมีราคาที่ต้องจ่าย คือรายได้ของรัฐที่หายไป ดังนั้นกระทรวงการคลังมีมาตรการอะไรที่จะทำให้ประชาชนเชื่อใจ ว่าจะสามารถจัดหารายได้เข้าประเทศเพียงพอโดยที่เราไม่ต้องกู้เพิ่ม

นายพิธา อภิปรายว่า สิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาลชุดนี้ คือแผนรายได้ประเทศ คือการปฏิรูปภาษีว่าจะทำอย่างไร จะขยายฐานภาษีอย่างไร และจะขยายฐานเศรษฐกิจอย่างไรที่ทำให้คนตัวเล็กไม่ลำบากมากเกินไป ภาษีแวตเป็นภาษีถดถอยที่อาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ แม้คนรวยจะจ่ายแวตในจำนวนเงินที่มากกว่าคนจนเพราะบริโภคมากกว่า แต่หากคิดตามสัดส่วนต่อรายได้ จะเห็นว่าในการบริโภคสินค้าชนิดเดียวกัน คนจนจ่ายในสัดส่วนต่อรายได้มากกว่าคนรวย

ดังนั้นรัฐจะทำอย่างไรที่จะหารายได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาภาษีจากการบริโภคมากเกินไป ขณะที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่นอกระบบภาษี ทำให้ฐานของคนเสียภาษีน้อย ไม่สามารถขยายได้ ขณะที่การสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้ประเทศจากเศรษฐกิจใหม่ เช่น ภาษีจากสุราก้าวหน้า แค่เพียงแก้กฎกระทรวงและส่งเข้าครม.ก็สามารถดำเนินการได้ เชื่อว่าใช้ระยะเวลาไม่นาน สามารถทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

นายพิธา อภิปรายว่า และเมื่อรายได้ไม่พอรายจ่าย รัฐจำเป็นต้องกู้เพิ่มเสมือนการนำเงินจากอนาคตมาใช้ และมีราคาที่ต้องจ่าย ควรที่จะต้องรอบคอบและคิดน่าคิดหลังให้ดีก่อนกู้ การจะกู้ 8 แสนกว่าล้านบาทประชาชนอาจจะไม่เข้าใจว่าคืนเมื่อไหร่ใครที่ต้องเป็นคนคืน และมีดอกเบี้ยเท่าไหร่

สิ่งที่ประชาชนต้องเข้าใจคือภาระดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 2.6 แสนล้านบาท กลายเป็น 4.7 แสนล้านบาทในปี 71 และงบประมาณครั้งนี้ไต่เส้นกรอบงบประมาณในหลายมิติ ทั้งชนเพดาน 70% ตามกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามประกาศนโยบายการเงินการคลังฉบับที่2/2564 กู้ปริ่มเพดานตามมาตรา 21 พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ สัดส่วนภาระผูกพันงบประมาณข้ามปี 9% ชนเพดาน 10% การกู้คือการเอาเงินอนาคตมาใช้ แต่อนาคตเราจะมั่นใจได้แค่ไหน

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วนทั้งความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ความเชื่อผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนก็ไม่สู้ดีนัก เมื่อรายได้มีความผันผวน การกู้ก็มีต้นทุนของมัน ซึ่งเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ขณะที่อัตราการเติบโตของรายได้ โตไม่ทันรายจ่ายของประเทศทำให้อัตราการกู้สูงขึ้นเรื่อยๆ

นายพิธา อภิปรายว่า ในส่วนของการขยาย สะท้อนความสมดุล ระหว่างการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกับการกระตุ้นจีดีพี ตนเห็นด้วยกับอดีตนายกฯ ท่านหนึ่งที่ระบุในปี 55 ว่าถ้ารัฐบาลไม่จนปัญญาจริงๆไม่แจกหรอก เน้นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างเศรษฐกิจเสียมากกว่า ซึ่งการเจริญเติบโตเศรษฐกิจสำคัญ แต่ต้องแลกด้วยอะไรบ้าง การสร้างเศรษฐกิจมีหลายมิติ การกระตุ้นจีดีพีไม่ใช่มีแค่มิติใดมิติหนึ่ง จีดีพีอยู่ที่การบริโภค การส่งออกหรือการนำเข้ากันแน่ โครงสร้างจีดีพีที่ประกอบไปด้วยภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและบริการในงบประมาณ ปี 68 ตอบโจทย์การสร้างเศรษฐกิจมากเพียงใด

ส่วนการท่องเที่ยว คือเครื่องจักรเศรษฐกิจสุดท้ายที่ต้องรักษาไว้ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวหรืออินฟราสตรัคเจอร์ อยากให้รัฐบาลดูตัวอย่างประเทศนิวซีแลนด์ในปี 66 ที่ลงทุน 2.7 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวให้รองรับการเปลี่ยนแปลง

นายพิธา อภิปรายอีกว่า ขณะที่รัฐบาล ignite ก็มีคนที่ถูก ignore เช่น งบอุดหนุนเด็กเล็กหายไป 1.5 หมื่นล้านบาท งบช่วยเหลือผู้พิการที่หายไป 1000 ล้านบาท งบดูแลไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ป่าสงวนถูกตัดไป 1000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ขอเสนอแนะกระบวนการจัดทำงบประมาณเมื่อเปรียบเทียบกับโออีซีดีที่เขาเสนอแนะมาทั้งหมด 10 ข้อ อย่างน้อยมีให้เห็นอยู่ 3 ข้อในการจัดงบประมาณจะต้องมีเกณฑ์และแผนการตลาด การที่เรามองข้ามสิ่งแวดล้อม มองข้ามคนชายขอบ หรือคนที่รัฐบาลอาจจะลืมจะไม่ถูกมองข้ามอีกต่อไป เพราะในกระบวนการบังคับว่าการทำงบประมาณจะต้องมีการทำงบประมาณเกี่ยวกับเด็กอ่อนและสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน ความเสี่ยงการคลังยั่งยืนและระยะยาวในการที่ต้องบริหารความเสี่ยง การอธิบายเรื่องการกู้และดอกเบี้ยให้กับประชาชนที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงที่จะทำได้ จะต้องอธิบายให้เขารู้อยู่ตลอดเวลา และเรื่องความโปร่งใส การประกันคุณภาพการตรวจสอบงบประมาณซึ่งโออีซีเขียนไว้ชัด

นายพิธา อภิปรายว่า และมี 5 สิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดความชัดเจน คือ 1.แผนรายได้และแผนหนี้ของประเทศ 2.แผนการปฏิรูปภาษีอย่างเป็นธรรม 3.แผนการช่วยเหลือประชาชนที่งบประมาณไม่ครอบคลุม 4.การเปิดเผยกระบวนการการพิจารณางบต่อสาธารณะ และ5.การปรับกระบวนการงบประมาณตามมาตรฐานโออีซีดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *