October 4, 2024

เปิด 3 สาเหตุค่าไฟฟ้างวด 3/67 ขึ้นแรง

เปิด 3 สาเหตุค่าไฟฟ้างวด 3/67 ขึ้นแรง

ก่อนหน้านี้ นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 พร้อมให้ กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค.67 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

ในการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft อาจปรับเพิ่มขึ้นในระดับ 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด ก.ย.-ธ.ค.67 เพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย

ล่าสุด สำนักข่าวดัง รายงานว่า นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดถึงสาเหตุของค่าไฟฟ้างวด 3/2567 ที่ปรับขึ้นอย่างรุนแรง 11-44% นั้น เป็นผลมาจากต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 3.97 บาท/หน่วย เป็น 4.12 บาท/หน่วย

การที่จะชำระคืน กฟผ. เพิ่มขึ้น (ค่า AF) มีรายการเพิ่มเพื่อชำระคืนส่วนต่างราคาก๊าซตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 (ค่า AF Gas) ที่เกิดขึ้นในงวด 3/2566 คืนให้ ปตท. และ กฟผ. ทั้งหมดภายในงวด 3/2567 งวดเดียวจำนวน 15,084 ล้านบาท (25.02 สตางค์ต่อหน่วย) เปรียบเทียบค่าไฟฟ้างวด 2/2567 กับ งวด 3/2567 (กรณี กกพ. ทางเลือก 3) และกรณีตรึงค่าไฟฟ้า

ส่วนกรณีการตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย คือทางรอดของประเทศ คือทางรอดของประชาชน และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยที่ยังคงชำระคืน กฟผ. ได้บางส่วน รัฐบาลสามารถช่วยสภาพคล่อง กฟผ. ได้โดยให้ กฟผ. ชะลอหรือลดเงินนำส่งรัฐ

นอกจากนี้ ยังชะลอการชำระคืนค่า AF Gas (15,084 ล้านบาท) ออกไปก่อน สำหรับที่มาค่า AF Gas : เมื่อรัฐบาลเริ่มเข้ามาบริหารงานได้สั่งลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย (ลดจาก 4.69 บาทต่อหน่วย ในงวด 2/2566) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กย. 2566 โดยมิได้ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด

เพียงแต่สั่งให้ ปตท. และ กฟผ. คุมค่าก๊าซไว้ และให้นำส่วนต่างค่าก๊าซธรรมชาติ (AF-Gas) ไปทยอยเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟคืนให้ ปตท. และ กฟผ. ส่วนนี้คิดเป็นเงิน 15,084 ล้านบาท (25.02 สตางค์ต่อหน่วย) ที่จะนำมาเรียกเก็บจากประชาชนคืนในงวด 3/67

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดัก PDP2024 ด้วย 3 มาตรการ เป็นการผ่าตัดเพื่อทางรอดของประเทศนั้น จำเป็นต้องพึ่งพลังงานสะอาด ที่ต้นทุนไม่ผันผวน มากกว่า ที่จะไปเสี่ยงกับพลังงานฟอสซิลที่ควบคุมราคาไม่ได้ รวมทั้งบริหาร Demand & Supply อย่างเหมาะสม เช่น ไม่ลงทุนเกินตัว ในโรงไฟฟ้าและ Infrastructure ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ที่จะเป็นภาระของประเทศ มี KPI ที่เหมาะสม ทบทวนสัญญาโรงไฟฟ้า เช่น ค่า AP และอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม เอกชนต้องการให้รัฐผลักดันนโยบายเปิดเสรีทั้งระบบผลิต จัดหา จำหน่าย ทั้งไฟฟ้าและ NG มากกว่าการแทรกแซง ชี้นำบิดเบือน การกำกับแบบมืออาชีพอย่างโปร่งใส เร่ง TPA (Third Party Access) ทั้งระบบสายส่งไฟฟ้า และระบบ NG และ LNG นำเข้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *