เคยมั้ย? เลิกงานจะกลับบ้านทีไร ฝนตกทุ๊กกกทีเลย วันนี้เราเลยจะพาไปย้อนอ่านบทความของ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ อธิบายถึงกรณี ฝนราชการ ฝนตกหลังเลิกงาน เกิดจากอะไรกันแน่?
โดยระบุว่า ช่วงนี้ฝนมักจะตกหนักในช่วงตอนเย็น ตอนใกล้จะเลิกทำงาน ทำเอากลับบ้านลำบากแทบทุกวัน จนทำให้มีคนเรียกล้อว่าเป็น ฝนราชการ (เลิกงาน) กัน มันเป็นเรื่องบังเอิญ หรือว่าเป็นเรื่องที่อธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์ครับ?
เรื่อง ฝนราชการ นี้ มีข้อมูลที่เคยอธิบายไว้โดยผู้เชี่ยวชาญว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ ที่ในฤดูฝนของประเทศไทยเรา มีความเหมาะสมของลมฟ้าอากาศ จนทำให้ฝนมักจะตกตอนช่วงเย็นพอดี ไม่ได้เป็นเหตุบังเอิญ
ขณะเดียวกัน ก็ยังบอกด้วยว่าเรื่องฝนตกตอนเย็นๆ แบบนี้ ไม่ได้มาจาก ปรากฏการณ์โดมความร้อน คือการที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีความร้อนสะสมตัวกักเก็บไว้ในเมืองอยู่สูง ดังเช่นที่เคยมีคนยกเอามาอธิบายด้วย
1. ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ก่อตั้งเพจ “ชมรมคนรักมวลเมฆ” และเจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “รู้ทัน ฝนฟ้า อากาศ” อธิบายว่า
ในเวลากลางวัน พื้นดินได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศผิวพื้นร้อน และลอยตัวขึ้น
เมื่ออากาศลอยตัวสูงขึ้น ก็จะเย็นตัวลงตามกฎ “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” หากอากาศเย็นลง จนกระทั่งถึงอุณหภูมิที่เรียกว่า “จุดน้ำค้าง” ก็จะทำให้ไอน้ำกลายเป็นหยดน้ำเล็กๆ จำนวนมาก ถ้ามองภาพรวมก็คือ “เมฆ” นั่นเอง
ถ้าหยดน้ำในเมฆเติบโตมีขนาดใหญ่มากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งซึ่งหนักเกินไป จนกระแสลมพยุงเอาไว้ไม่ไหว ก็จะตกลงมาเป็นฝน
“เมฆฝน” จะเป็นเมฆก้อนใหญ่ที่เกิดจากการสะสมของเมฆก้อนเล็กๆ ตั้งแต่ในช่วงเช้า ซึ่งปกติช่วงเช้าเรามักจะไม่เจอฝน เพราะเมฆมันก้อนเล็ก (ยกเว้นมีพายุ หรือดีเปรสชัน หรืออะไรก็แล้วแต่มากระทบ ก็อาจทำให้ช่วงเช้ามีฝนตกได้)
ที่เมฆกลายเป็นก้อนใหญ่ได้ ก็เป็นเพราะมี “ลมพัดสอบ” หรือลมที่เกิดจากการเบียดตัวเข้าหากันของลม 2 ฝ่ายบริเวณใกล้พื้นโลก ทำให้อากาศบริเวณแนวเบียดตัว ลอยขึ้นเบื้องบน และมักจะมีเมฆฝนเกิดขึ้น .. เมื่อลมพัดสอบหอบเมฆฝนมารวมกัน มันก็เลยใหญ่
นอกจากลมแล้ว ต้องมีความชื้นและความร้อนจากพื้นล่างเข้ามาช่วยด้วย ฝนถึงจะตกลงมา
และที่สำคัญ “ยอดเมฆ” ต้องสูงมากพอ .. ฐานเมฆจะนับจากพื้นดินขึ้นไปราว 1 กิโลเมตร และถ้านับจากฐานเมฆขึ้นไปถึงยอดเมฆ แล้วมีความสูงแค่ 2 กิโลเมตร โอกาสเกิดฝนจะยาก / ถ้าสูงจาก 2 ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 7 กิโลเมตร จะมีฝนแต่ไม่มีฟ้าผ่า / แต่ถ้าสูงเกิน 7 กิโลเมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีทั้งฝนทั้งฟ้าผ่าด้วย
ที่ทำไมฝนฟ้าบ้านเรา มันชอบตกมาตอนเลิกงาน “สาเหตุ” เป็นเพราะการที่เมฆจะสะสมความสูงจาก 2 ไปถึง 7 กิโลเมตร มันต้องใช้เวลานับตั้งแต่เช้ามา กว่าจะใหญ่และสูงพอก็ถึงช่วงเย็นพอดี ทีนี้ฝนจะเกิดได้ ต้องมีความชื้นและความร้อนเข้ามากระตุ้นด้วย ซึ่งปกติบ้านเรา ช่วงบ่ายแก่ๆ 3-4 โมงเย็น อากาศจะร้อนจัดใช้ได้ เมื่อเมฆใหญ่พอมาเจออากาศร้อน มันก็กระตุ้นให้เกิดฝนตกลงมาช่วงเลิกงานพอดี
แนวคิดข้างต้นอาจใช้ได้เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น จะไปใช้กับช่วงหน้าหนาวก็ไม่น่าจะเข้ากัน เพราะมีอย่างอื่นประกอบด้วย ทั้งความชื้น ทิศทางลม เช่น ถ้าลมไม่มา เมฆไม่ใหญ่ โอกาสจะมีฝนตกก็ยาก
สรุปคือ ที่ฝนชอบตกตอนเย็นๆ ใกล้เวลาเลิกงานกลับบ้าน สาเหตุเพราะในช่วงหน้าฝน มีไอน้ำในอากาศเยอะ ความชื้นสัมพัทธ์สูง พออากาศโดนแดดนานเข้าจากเช้า-สาย-เที่ยง-บ่าย ไอน้ำในอากาศซึ่งร้อนขึ้น ก็จะฟิตจัดหรือมีพลังงานเยอะ ลอยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็กๆ จำนวนมาก ก่อม็อบกลายเป็นเมฆก้อนหนักขึ้น จนถึงจุดหนึ่งก็หนักเกินไป ตกลงมาเป็นฝน
2. เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง (ข่าวไม่ระบุชื่อ) จากสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน อธิบายเรื่องฝนราชการนี้คร่าวๆ ว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีการอธิบายว่า เรื่องนี้เกิดจาก “โดมความร้อน” แต่กรมอุตุนิยมวิทยาไม่เห็นด้วย ก็ถือเป็นเรื่องถกเถียงและพิสูจน์กันต่อไป
แต่โดยหลักคิดง่ายๆ ต้องบอกว่า ฝนในเมืองไทยมีสิทธิ์ตกช่วงบ่ายๆ เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่บ่ายโมงตรงถึง บ่าย 3 หรือ 4 โมงเย็น หรือคลาดเคลื่อนไปนิดหน่อย เป็น “พฤติกรรมประจำ” ของฝนในภาคกลาง
หากมีหย่อมความกดอากาศต่ำเมื่อไร มันก็จะสั่งเมฆฝนเข้ามา โดยฝนตอนเช้ามาจากตอนใกล้ๆ จะสว่าง เป็นช่วงที่มีภาวะยกมวลอากาศ โดยลมจะพัดสอบอยู่ช่วงหนึ่ง ส่งผลให้มวลอากาศที่อยู่ล่างๆ ยกตัวขึ้น
การที่มวลอากาศจะยกตัวได้ ก็ต้องมีปัจจัย เช่น กระแสความกดอากาศ ที่เบียดมาแล้วไปทางไหนไม่ได้ ที่สุดแล้วก็ต้องยกตัวขึ้นด้านบน กลายเป็นเมฆฝน ซึ่งมักเกิดในช่วงเช้าๆ
พอช่วงเย็นที่ฝนตกตรงเวลา น่าจะเป็นเพราะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพอมรสุมตัวนี้เข้ามาแล้ว มันจะมีวงจรของมันที่เกิดจากพลังงานของดวงอาทิตย์ พอถึงวงรอบได้ที่ ก็กระตุ้นให้เกิดฝนตก ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาคนเลิกงานพอดี