จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แสดงพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน ต่อมา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์ ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คุกคามด้วยการตบบริเวณศีรษะ ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังทำหน้าที่ติดตามสัมภาษณ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บ้านอัมพวัน) เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 และเป็นคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ต่อทางสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้น
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว
การตั้งคำถามด้วยถ้อยคำและท่าทีสุภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกสัมภาษณ์ ดังปรากฏในคลิปวิดีโอ ที่ถูกเผยแพร่เป็นที่ประจักษ์นั้น ชัดเจนว่าเป็นการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวโดยสุจริต การถูกกระทำทางกายจากแหล่งข่าวเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และถือเป็นพฤติกรรมที่ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกปลอดภัยของผู้สื่อข่าว – ช่างภาพ ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์เดียวกันนี้ด้วย
ส.ส.ท. มีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองผู้สื่อข่าวและผู้ปฏิบัติงานทุกคน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมั่นใจ ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม การคุกคามผู้สื่อข่าวครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ ส.ส.ท. ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แสดงความรับผิดชอบ และขอให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันหามาตรการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสื่อมวลชนต่อไป
ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ให้ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ได้โทรศัพท์สายตรงมาถึงผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ที่เกิดเหตุลุงป้อมหยุมหัว
โดย พล.อ.ณัฐ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทาง พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ตั้งใจ หลังจากนั้นได้ส่งสายโทรศัพท์ให้ พล.อ.ประวิตร ได้พูดคุย โดย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตนเองไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้มีเจตนาอะไรเลย เพราะปกติแล้วตนเองก็ได้พูดล้อเล่นและแหย่เล่นกับผู้สื่อข่าวที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นประจำอยู่แล้ว.