จากกรณีการขุดค้นพบ สปป.ลาว ค้นพระพุทธรูปและวัตถุโบราณหลายชิ้น หลังจากแม่น้ำโขงลดจนกลายเป็นหาดทราย ที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยคาดว่า เป็นพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งมีการออกมาตั้งประเด็นจากนักวิชาการ นักโบราณคดีเพื่อหาอายุที่แท้จริงซึ่งยังคงต้องอาศัยกระบวนการพิสูจน์ต่อไป อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูปที่ถูกขุดค้นขึ้นมา ได้พบว่า ที่บริเวณฐานมีการสลักข้อความไว้และมีการถอดข้อความเอาไว้
อ.อภิชิต ศิริชัย นักประวัติศาสตร์เชียงราย ได้แปลข้อความที่บริเวณฐานพระที่ได้จากบริเวณดังกล่าว ระบุว่า “จารึกที่พบฝั่งลาว สกราช 1122 ตัวปีกัดเหม้า (พ.ศ.2303) ยุคพม่า #วัดฅำกลางบ้าน (วัดเจดีย์หลวง ปัจจุบัน) #วัดคว้าง #วัดสังกา ฯลฯ ชื่อวัดในเมืองเชียงแสนทั้งสิ้น !!! ลงมาอีก 2 บรรทัด #สัทธาทายกในเวียงเมืองเชียงแสนชู่คน ครับ #มรดกเชียงแสน
อีกภาพ ถูกแปลว่า “เจ้าสินบระหญา (สินปัญญา) หล่อแล สกราชได้ 866 ตัว (พ.ศ.2047) วัดนี้ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องถึงยุคพม่าที่จารึกนี้ระบุปีสกราช 1122 (พ.ศ.2303)
ทั้งนี้ ในเพจ ลายเมือง Lai-Muang ได้ให้ความรู้เพิ่มเติม ว่า นายสินประหญา (พ.ศ. 2038) เจ้าสินประหญา (พ.ศ. 2047) มหาเถรสินประหญาเจ้า (พ.ศ. 2049)
ชื่อของพระเถระรูปหนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ในจารึกและใบลานของล้านนา ซึ่งเป็นผู้สร้างใบลานเรื่อง มิลินทปัญหา ไว้กับหอไตร เมืองท่าสร้อย ในปี พ.ศ. 2038 ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นฆราวาสอยู่ และมีการกล่าวถึงอีกครั้งในจารึกวัดวิสุทธาราม เมืองพะเยา โดยญาติของท่านได้ถูกนำมาถวายเป็นข้าวัดวิสุทธาราม ในปี พ.ศ. 2049 จำนวน 4 ครอบครัว
และล่าสุดจากจารึกฐานพระพุทธรูปที่พบใหม่ จากดอนเผิ้งคำ ประเทศลาว ซึ่งประเด็นถกเถียงเรื่องความเก่าแก่ของโบราณวัตถุที่พบไปหมาด ๆ มีข้อความระบุว่า เจ้าสินประญาได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ถวายไว้เมื่อปี พ.ศ. 2047
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้มีการแปลข้อความศิลาออกมา ชาวโซเชียลโดยเฉพาะเหล่าบรรดานักเสี่ยงโชค ต่างไม่พลาดนำเลขปีที่แปลได้ ไปเป็นแนวทางตามความเชื่อ